ปัจจุบันการหลอมรวมของเทคโนโลยี (Convergence of Technology) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก

ดังจะเห็นได้จากรูปแบบของการทำธุรกิจ (Business Model) ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอผลการวิจัยพบว่าการหลอมรวมของเทคโนโลยีส่ง ผลต่อความต้องการพื้นฐานด้านโทรคมนาคม (ความต้องการอย่างพอเพียง) คือผู้บริการคาดหวังว่าการหลอมรวมของเทคโนโลยีจะส่งผลต่อปัจจัยอื่นที่พิจารณาในการวิจัยครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดด้านเทคโนโลยีและด้านการสร้างสังคมฐานความรู้

 


     ในแง่ของเทคโนโลยีเป็นที่ทราบกันดีว่าการหลอมรวมของเทคโนโลยีก่อให้เกิดการปฏิวัติในวงการสื่อสารอย่างมากและส่งผลโดยตรงต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมอย่างมากโดยทำให้เส้นแบ่งกั้นของธุรกิจ (Boundary) ลบเลือนไปการรวมกันของธุรกิจจึงเกิดขึ้นอย่างหลากหลายโดยอาศัยช่องสัญญาณ สื่อสารเดียวกัน (Single Carrier) และทำให้อุปกรณ์ถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้งานที่หลากหลาย (Functional Convergence) ด้วยเหตุนี้ทำให้อุปกรณ์มีราคาสูงขึ้น คำว่าราคาอุปกรณ์สูงอาจจะเป็นการกล่าวอย่างไม่ถูกต้องทีเดียวเนื่องจาก อุปกรณ์ที่รองรับการทำงานที่หลากหลายถ้าเทียบราคาต่อหน้าที่การใช้งานจะพบ ว่ามีราคาถูกลง แต่อุปกรณ์ชิ้นนั้นอาจทำงานได้หลายหน้าที่ที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ ดังนั้นถ้ามองที่ราคาอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายก็ถือว่ามีราคาที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้ใช้งานที่มีรายได้ต่อครัวเรือนไม่สูง นอกจากนี้กลุ่มคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ห่างไกลก็จะมักจะอยู่นอกเขตพื้นที่ให้บริการของโครงข่ายและมักไม่คุ้นชินกับการใช้งานเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆที่ อุปกรณ์ต่างๆพยายามยัดเยียดให้ผู้บริโภคใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในทางธุรกิจ โดยความเป็นจริงแล้วความจำเป็นในการใช้งานเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้เป็นเรื่องของการกระตุ้นความต้องการใช้ (Demands) มากกว่าเกิดจากความต้องการการใช้งานของผู้บริโภคจริง เคยมีศาสตราจารย์ด้านโทรคมนาคมท่านหนึ่งกล่าวให้ผมฟังสมัยที่ยังเรียน หนังสืออยู่ต่างประเทศว่า การใช้งานของเทคโนโลยีในปัจจุบันเกิดจากการกระตุ้นตลาดของผู้ให้บริการและจะ กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของเราในอีกสิบปีข้างหน้า คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเพราะหลายเทคโนโลยีได้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ในสังคมชนบทปริมาณความต้องการการใช้งานสิ่งเหล่านี้ต่ำ มากเพราะคนเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของเขา ณเวลานั้นมากกว่า ซึ่งตรงข้ามกับสังคมเมืองที่ตามกระแสเทคโนโลยีและบังคับตัวเองให้พึ่งพิงกับ สิ่งใหม่ที่บางครั้งก็ยังไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันและเคยชินจนขาดไม่ได้และกลายเป็นของจำเป็นไปในที่สุด


     การสร้างความต้องการของสิ่งของในอนาคตของสังคมเมืองและการดำรงอยู่ของคนใน ชนบทที่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายของการใช้งานเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆทำให้ สังคมชนบทถูกแบ่งกั้นด้วยเส้นแบ่งทางข้อมูล (Digital Divide) และเมื่อเชื่อมโยงกับระดับการศึกษาทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารยิ่งด้อยลง ในสังคมชนบท จนทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเพราะการศึกษาที่ด้อยกว่าสังคมเมืองเป็นเหตุผล หนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีซึ่งความจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น